วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไทยกับการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน

          ภายใต้เสาหลัก 3 เสา แห่งประชาคมอาเซียน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community– AEC) มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและโดดเด่นกว่าการดำเนินงานอีกสองเสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community– ASC) และประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน(ASEAN Socio-Cultural Community- ASCC) สาเหตุสำคัญนั่นคือ ประการแรก AEC ทำให้เศรษฐกิจอาเซียน มีมูลค่ารวมกัน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคนที่จะได้ยืนอย่างสง่างาม ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องตัวและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบจะหมดไป เนื่องจาก 10 ตลาดรวมเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ราคาสินค้าจะถูกลง ประการที่สาม ตลาดอาเซียนจะกลายเป็นตลาดของคน 590 ล้านคน ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปใน 9 ประเทศได้ราวกับส่งไปขายยังภูมิภาคภายในประเทศ ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในแง่ของการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ประการที่สี่ ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน และยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งจะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกัน และสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน ประการที่ห้า ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน ประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน
          สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่กระชับมากขึ้นเพื่อการเป็น AEC (ASEAN Economic Community ) ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในด้านหนึ่งคือการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนก็จะต้องแข่งขันกันเองเพื่อดึงดูดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้น การบรรเทาความขัดแย้งใน 2 ส่วนนี้จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย ต้องแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจของ International Management Development (IMD) ในปี 2547 พบว่าอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 29 จากทั้งหมด 60 ประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยยังอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า สิงคโปร์และมาเลเซีย โดย IMD เห็นว่าไทยควรพัฒนาด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขัน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และอัตราส่วนครูต่อนักเรียน นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การที่ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในหลายๆ ด้าน เช่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย (Tourism Capital of Asia) และศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งมีแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกันเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น ภายใต้กระแสการเปิดเสรีของโลกที่เข้มข้นและสภาพทางธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงในปัจจุบันนี้ ไทยควรพัฒนาขีดความสามารถทั้งด้านการค้า บริการและการลงทุน โดยส่งเสริมการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาทักษะและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม สำหรับด้านการตลาด ควรพัฒนาให้แบรนด์ของไทยเป็นแบรนด์ของภูมิภาคและของโลก (Regional and Global Brands) ส่วนภาคเกษตรกรรมควรพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มสมัยใหม่ พัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และจะต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรี FTA ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการจัดทำ FTA สองฝ่ายกับประเทศต่างๆ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย บาร์เรน เปรู และกลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC (บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฎาน และเนปาล)

เรียบเรียง ประวีณา ธาดาพรหมแหล่งข้อมูล :องค์ความรู้ ประชาคมอาเซียน http://www.thai-aec.com/227#ixzz1wNF7IYe3ศูนย์วิจัยกสิกรไทย http://www.kasikornresearch.com/TH/K-EconAnalysis/Pages/Search.aspxposition Magazine http://www.positioningmag.com/prnews/prnews.aspx?id=23505สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/small_head/ASEAN2011/asean_news.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น