วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

8 อาชีพที่สามารถทำงานได้อย่างเสรีใน 10 ประเทศอาเซียน

ผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้กำหนดให้ทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพ หรือแรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษของอาเซียนได้อย่างเสรี ข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้อย่างเสรี ได้กำหนดครอบคลุม 8 อาชีพ และก็มีข่าวว่าอาจจะมีการเพิ่มจำนวนอาชีพมาอีกในลำดับถัดไป สำหรับ 8 อาชีพที่มีข้อตกลงกันแล้วให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้อย่างเสรี ได้แก่ อาชีพวิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ และอาชีพการบริการ/การท่องเที่ยวและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีในกลุ่ม 8 อาชีพนั้น มีผลดีต่อไทยไม่น้อย เพราะในภาพรวม สถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษาในไทย มีศักยภาพในด้านการผลิตบุคลากรในสายอาชีพทั้ง 8 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทำให้ผู้จบการศึกษาในสายวิชาชีพทั้ง 8 ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก มีตลาดงานที่เปิดกว้างมากขึ้น

จากเดิมที่ตลาดมีแค่การให้บริการประชาชน 63 ล้านคน กลายเป็นตลาดของประชาชนร่วม 600 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน นอกจากนั้น ประเทศเหล่านี้รวมทั้งไทยอยู่ในทิศทางที่กำลังเติบโตทางด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น เร็วบ้าง ช้าบ้าง และโดยภาพรวมคุณภาพของผู้จบวิชาชีพทั้ง 8 ในไทยก็สูงอยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศอาเซียน ทำให้โอกาสในการหางานมีสูง
ในขณะที่คนไทยสามารถไปทำงานในประเทศอาเซียนได้อย่างเสรีนั้น สภาวิชาชีพหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลมาตรฐานของอาชีพทั้ง 8 นั้น คงต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งรัดกุมเป็นอย่างมาก เพื่อรักษามาตรฐานของผู้จบวิชาชีพในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ในไทยให้คงเดิม หรือยกระดับให้สูงขึ้นไปอีกป้องกันมิให้เกิดการอ่อนด้อยในเรื่องมาตรฐานขององค์กรในการผลิตคน บางแห่งที่อาจใช้โอกาสนี้เพิ่มรายได้ในการเร่งผลิตคนในวิชาชีพเหล่านั้นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองตลาดที่ใหญ่ขึ้น มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบทางลบโดยรวม อีกปัญหาที่อาจจะตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ บางวิชาชีพไทยเริ่มจะเข้าสู่วิกฤต การขาดแคลนอาจารย์ เช่น ทันตแพทย์ ถ้าแก้ปัญหาไม่ทันท่วงทีในเวลาอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า ไทยจะมีปัญหาเรื่องการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ในสายวิชาชีพทันตแพทย์อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็ต้องระวังดูแลเรื่องมาตรฐานของคนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เข้ามาประกอบอาชีพทั้ง 8 อาชีพในไทยด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะมีผู้มาจากประเทศอื่น ที่มาประกอบอาชีพในไทยมีปัญหาอ่อนด้อยในเรื่องมาตรฐาน ซึ่งถ้าดูแลไม่รอบคอบรัดกุม อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยในทางลบ และอาจส่งผลต่อปัญหาการประกอบอาชีพของคนไทยเองแต่อย่างไรก็ตามในภาพรวม สังคมไทยกำลังก้าวสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนในวัยทำงานกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีข้อมูลว่าอีกประมาณสิบปีข้างหน้า สัดส่วนคนในวัยทำงานจะต่ำกว่าประชากรผู้สูงอายุมาก นี่จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือในกลุ่มอาชีพทั้ง 8 นั้น ผู้ที่จบจากสายวิชาชีพดังกล่าว จะประกันได้ว่าไม่น่าจะมีใครที่ตกงาน เพราะมีตลาดใหญ่มากรองรับทั้งในไทย และในประเทศอาเซียน


ข้อตกลงเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 8 อาชีพในปี 2015 (พ.ศ. 2558) แม้จะเป็นโอกาสทองของคนไทยในสายวิชาชีพดังกล่าว แต่ก็มีจุดที่ต้องระวังอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งในด้านการที่คนของเราไปทำงานบ้านเขา และการที่คนบ้านเขามาทำงานในบ้านเรา เพราะถ้าการระวังไม่รัดกุม โอกาสทองนั้นอาจพลิกเป็นวิกฤต และมีผลกระทบรุนแรงต่อบางสายวิชาชีพได้


จากศูนย์ข้อมูลอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์


“ข้อควรและไม่ควรปฏิบัติในประเทศฟิลิปปินส์”

· การใช้นามบัตรเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่มีข้อปฏิบัติพิเศษใดๆ เกี่ยวกับการมอบนามบัตร ซึ่งต้องระวังเรี่องนี้ในบางประเทศในเอเซีย
· เสื้อแขนยาวผูกไท ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับการประชุมทางธุรกิจ โดยเฉพาะการประชุมกับนักธุรกิจฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน ชุดสูทเหมาะสำหรับการประชุมที่เป็นทางการกับระดับผู้บริหารหรืองานเลี้ยงอาหารค่ำ สำหรับเครื่องแต่งกายหญิงในการประชุมธุรกิจนั้น ให้ใช้ประเภท SMART CASUAL (กระโปรงกับเสื้อ หรือกางเกงกับเสื้อ) และประเภท western style business (กระโปรงชุด หรือชุดเสื้อกางเกงพร้อมสูท)
· ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในฟิลิปปินส์และเป็นภาษาที่ใช้ในธุรกิจ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่อ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้
· ในการพบปะชาวฟิลิปปินส์ครั้งแรก ให้เรียกนามสกุลของผู้นั้น ต่อเมื่อคุ้นเคยกันแล้วจึงเรียกชื่อตัว เช่น Mr. Antonio Lopez เมื่อพบกันครั้งแรกต้องเรียกชี่อ Mr. Lopez ต่อเมื่อสนิทกันแล้วจึงเรียก “Antonio”


ที่มา..สุภา ตั้งกิตติคุณ,ข้อมูลประกอบการทำธุรกิจในอาเซียน

ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังในการติดต่อธุรกิจใน สปป.ลาว


ข้อควรปฏิบัติ 1. การแต่งกาย ควรแต่งกายสุภาพ ภูมิฐาน และน่าเชื่อถือ ผู้ชายควรสวมเสื้อเชิ้ต ผูกเน็กไท และสวมสูทเมื่อเข้าร่วมประชุมหรือเจรจาทางธุรกิจ กรณีติดต่อกับหน่วยงานราชการ ผู้ชายอาจสวมเสื้อซาฟารีสีสุภาพ ส่วนผู้หญิงควรสวมกระโปรงทรงสุภาพ เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ราชการ2. การสนทนา ควรใช้คำพูดสุภาพเพื่อให้เกียรติแก่คู่สนทนา นอกจากนี้อาจทักทายเป็นภาษาลาว เช่น หากต้องการทักทายสวัสดีอาจพูดว่า “สบายดี” เป็นต้น3. ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร นักธุรกิจไทยมีความได้เปรียบนักลงทุนชาติอื่นในการสื่อสารกับชาวลาว เนื่องจากภาษาลาวและภาษาไทยคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะภาษาไทยอีสาน อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังคำบางคำที่ออกเสียงคล้ายกัน แต่มีความหมายต่างกัน เพราะอาจทำให้การสื่อสารไม่ตรงกันได้4. นักลงทุนไทยควรปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของชาวลาว โดยไม่พยายามไปปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติดั้งเดิม อาทิ ชาวลาวนิยมกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านมากกว่ารับประทานร่วมกันในที่ทำงาน5. นโยบายลงทุนของ สปป.ลาว ในระยะหลังเน้นทั้งการสร้างงานให้แก่แรงงานชาวลาว และการถ่ายทอดเทคโนโลยี หากโครงการลงทุนใดมีข้อเสนอในเชิงการสร้างงานควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปด้วย จะช่วยให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติง่ายขึ้น6. นักลงทุนควรศึกษากฎระเบียบของ สปป.ลาว อย่างละเอียดรัดกุม เนื่องจากแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละแขวง อาจจะมีการตีความกฎหมายแต่ละฉบับไม่เหมือนกัน อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน เช่น ตามกฎหมายต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าภายใต้ Most Favored Nation Rate (MFN Rate) แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่มีการบังคับใช้ หรือกรณีที่กฎหมายระบุวันเริ่มบังคับใช้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า แต่บางหน่วยงานอาจบังคับใช้ก่อน เป็นต้น

ข้อควรระวัง
1. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบไทย กับ สปป.ลาว ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง แต่ควรใช้ “บ้านใกล้เรือนเคียง” แทน2. การให้ของขวัญหรือของกำนัล ควรหลีกเลี่ยงสิ่งของที่อาจสะกิจความรู้สึกไม่ดีทางประวัติศาสตร์3. ชาวลาวไม่ชอบให้ใครมาแบ่งชั้นความเป็นหัวหน้า-ลูกน้อง ดังนั้น ชาวไทยจึงควรให้ความเป็นกันเองกับแรงงานชาวลาว เช่น หากมีโอกาสควรร่วมรับประทานอาหารกับแรงงานชาวลาว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันท์เพื่อนร่วมงาน.


(ข้อมูลจาก..ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

หาบเร่ แผงลอยขายอาหาร จะได้ประโยชน์อะไรจาก AEC

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับกลุ่มผู้ค้า หาบเร่ แผงลอย ขายอาหาร ผู้ค้าหาบแร่ แผงลอยก็จะได้ประโยชน์จาก AEC เช่นกัน
ไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะดวกสบายในเรื่องอาหารการกิน ทุกตรอก ซอก มุม ซอย หัวถนน ท้ายถนน มีอาหารให้กินเยอะแยะ ร้านอาหารในรูปแบบของหาบเร่ แผงลอย ด้วยเมนูที่หลากหลาย รดชาดแสนอร่อย และ ที่สำคัญราคาถูก ทำให้อาหารข้างทาง หรือ หาบเร่แผงลอยได้รับความนิยม ทั้งจากกลุ่มลูกค้าในประเทศเอง และ นักท่องเที่ยว ขอเพียงรัฐให้การสนับสนุน จัดระเบียบ และ พัฒนาคุณภาพให้ดีและ มองว่า หาบเร่แผงลอย คือ สีสัน เป็นเสน่ห์ของเมือง ไม่ใช่ ปัญหา สร้างรูปแบบ หรือ อัตลักษณ์ให้พ่อค้า แม่ค้าที่ขายอาหารหาบเร่แผงลอย เป็นผู้ให้บริการแถวหน้า เป็นลอยยิ้มของเมือง ที่พร้อมจะสร้างสรรค์ของอร่อย และ มอบความสุข ความอิ่มอร่อยด้วยอาหารที่คัดสรรมาอย่างดี ด้วยไมตรีอย่างไทย อิ่มอร่อยในราคาสบายกระเป๋า
ความประทับใจของผู้มาเยือนจะเกิดขึ้นได้จากมากมายหลายเหตุผล การหาอาหารการกินได้ง่าย สะอาดปลอดภัย ก็เป็นความประทับใจอันดับต้น ๆ รัฐบาลต้องรับรองมาตรฐานอาหารการกินข้างทาง หรือหาบเร่แผงลอย ว่านักท่องเที่ยว หรือผู้เข้ามาทำงาน ทำการค้า ลงทุน สามารถไว้วางใจที่จะเลือกรับประทานอาหารจากหาบเร่แผงลอยได้ทุกจุด
หากรัฐบาลไม่ทำ กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเองก็ต้องเป็นคนทำ อาจสร้างโลโก้อาหารอร่อย ปลอดภัยของตัวเองขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจ และ ไว้วางใจให้กับกลุ่มลูกค้า พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของหาบเร่แผงลอย ควรฝึกภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยคำง่าย ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าในกลุ่ม ประเทศอาเซียนของเรา ทำป้ายข้อความเชิญชวนยินดีต้อนรับ เตรียมป้ายราคา ป้ายบอกชื่ออาหารด้วยภาษาที่หลากหลายเอาไว้คอยอำนวยความสะดวกกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นหลังจากเปิด AEC ควรดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดของภาชนะใส่อาหาร รวมถึงเครื่องแต่งกายสวมใส่ของผู้ประกอบอาหารให้ดูสะอาดสะอ้าน
AEC เปิดเมื่อไหร่ รับรองขายของดีเป็นเทน้ำเทท่าแน่ ๆ เลยครับ เพราะ ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ประโยชน์อันดับต้น ๆ ของ AEC ก็คงหนี้ไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยว ที่สำคัญนักท่องเที่ยวทุกคนต้องรับประทานอาหารครับ และมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ติดใจรดชาดอาหารข้างทาง ข้างถนนของบ้านเรา เริ่มง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง ประโยชน์โดยตรงจาก AEC ก็จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องทวงถามจากภาครัฐว่า หาบเร่ แผงลอยขายอาหาร จะได้ประโยชน์อะไรจาก AEC?

ที่มา : AEC-Focus.com

10 อย่างสำคัญที่ SME ต้องทำ ก่อนบุกตลาด AEC

ถือเป็น AEC Road Map สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ 10 ข้อ สำหรับ 10 สิ่งอย่างสำคัญที่ SME ต้องทำก่อนบุกตลาด AEC เพื่อให้ สามารถประเมินตนเอง กำหนดแผนกลยุทธ์ในการปรับตัวเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ตลาด AEC ได้ และ นี่ คือสิ่งที่ต้องทำ หรือ เริ่มทำ
1. เลือกประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายของตน อย่าเหวี่ยงแห ทำมั่วไปหมด2. ลองซื้อสินค้า หรือ บริการ ประเทศนั้นๆ ที่จะเป็นคู่แข่งของเราเมื่อเราเข้าไปบุกตลาดมาใช้ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง/ใช้ประกอบกับสินค้าของเราด้วย3.ทำความเข้าใจกฎระเบียบและใบอนุญาตเข้าทำงาน ในประเทศนั้น ๆ4. ใช้ภาษาอังกฤษในองค์กรให้มากพอจนเพียงพอในการติดต่อธุรกิจ หรือ สื่อสาร5. หาบุคลากรที่สามารถเข้าใจภาษาประเทศนั้นๆ ได้ มาร่วมงาน6. ดูโทรทัศน์ TV หนังสือนิตยสารของประเทศเป้าหมายให้มาก ๆ7. เดินทางไปยังประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายของธุรกิจ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล อย่างจริงจังได้แล้วตั้งแต่วันนี้8. ทำความคุ้นเคยสื่อในประเทศเป้าหมายที่กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงเอาไว้ให้ดี9. ใช้ Cyber Marketing ทำตลาดทางตรงถึงลูกค้าในประเทศนั้นโดยตรง10. เข้าทดลองทำตลาดพร้อมการปรับปรุงกลยุทธ์ให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน

ที่มา : AEC-FOCUS.com

สินค้าขายดีในอาเซียน

ดังที่ทราบกันดีว่า จุดมุ่งหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ประกอบด้วย นักธุรกิจทั้งในกิจการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จะมีตลาดค้าขายใหญ่ขึ้น จากเคยขายให้กับคนไทย65 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 590 ล้านคน ในขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายและมีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม รวมถึงการได้รับความคุ้มครองการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าบริการข้ามพรมแดน จากความร่วมมือของหน่วยงานที่รับผิดชอบในอาเซียน

แน่นอนว่า สิ่งที่หลายคนอยากรู้คือ ปัจจุบันประเทศไทยส่งสินค้าไปขายในกลุ่มประเทศอาเซียนมากน้อยแค่ไหน สินค้าอะไรขายดีที่สุด? สินค้าไทยที่ขายดีในอาเซียน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.น้ำมันสำเร็จรูป
2.รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ 3.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 4.น้ำตาลทราย 5.เคมีภัณฑ์
6.เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7.เม็ดพลาสติก 8. เหล็ก 9. แผงวงจรไฟฟ้า
10. ยางพารา ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี ได้แก่ 1.เครื่องดื่ม 2.เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ 3.เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 4.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกปีหนึ่งเกือบ 2 ล้านล้านบาท
ที่มา : สยามธุรกิจ

นักศึกษารุ่นใหม่ควรเตรียมตัวอย่างไร ก่อนไทยเข้าสู่อาเซียน

การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ชี้ว่าสังคมไทยในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่กระทบต่อวิถีชีวิตที่เคยดาเนินมาในอดีต นักศึกษาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ ปรับตัว และเตรียมการ (Adaptability and Preparation) ประเด็นที่นักศึกษารุ่นใหม่ควรต้องเตรียมตนเอง เพื่อทำให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เช่น 
1. ควรมีความสนใจและตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ สู่ประชาคมอาเซียน ทั้งในเชิงประโยชน์ที่ได้รับและข้อควรระวัง

2. การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ทำให้สังคมยุคใหม่จะสะท้อนความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น การเรียนรู้ของนักศึกษายุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับทั้งกระบวนการเรียนรู้ ปรับทัศนคติที่จะต้องตระหนักถึงความเป็นชาติ และการดำรงอยู่ของรัฐบาลไทยเพิ่มมากขึ้น

3. ปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ การเรียนรู้ยุคใหม่ควรเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย อย่างคนรู้เท่าทันสถานการณ์

4. นักศึกษารุ่นใหม่จำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นชาติและความดำรงอยู่ของรัฐชาติ

5. พัฒนาความเป็นคนมีวินัย มุ่งเน้นความสามารถในการดารงชีวิตภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

6. สร้างความสามารถในการทางานร่วมกับผู้อื่น ควรพัฒนาตนเองให้แน่ใจว่า สามารถที่จะทางานกับผู้คนต่างวัฒนธรรมได้

7. เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
8. สร้างโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ให้สามารถสื่อสารได้

ฉะนั้น นักศึกษาใหม่ตั้งแต่ปี 2554 จึงต้องมีความตระหนักรู้ เข้าใจ และวางเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน เพื่อให้ตนเองมีความพร้อมต่อการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้


ที่มา : ดร.จิรวัฒน์ วีรังกร คณะอนุกรรมการพัฒนานิสิตนักศึกษานอกชั้นเรียน 
เครือข่ายสถาบัน อุดมศึกษา เขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“โอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอาเซียน”

ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่คนไทยและประเทศร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศ กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 58 ทุกภาคธุรกิจ กำลังจับจ้องจุดเปลี่ยนผ่านนี้ จะกลายเป็น “โอกาส" หรือเป็น “วิกฤติ" ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง และสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ณ วันนี้ต้องยอมรับว่า เพื่อนร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศของไทยล้วนแต่มีจุดแข็งในเรื่องการท่องเที่ยวไม่แพ้ไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศิลปวัฒนธรรมสวยสดงดงาม หลายคนเป็นห่วงว่า จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยหรือไม่
"ดร.สุทธาวรรณ จีระพันธุ์” ผู้อำนวยการหลักสูตรซีอีโอ-เอ็มบีเอ สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ฉายภาพโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอาเซียน ผ่านรายการเศรษฐกิจติดจอทางช่องเดลินิวส์ทีวีว่า ทิศทางการท่องเที่ยวในแถบประเทศอาเซียน มีการขยายตัวที่สูงมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางในอาเซียนกว่า 80 ล้าน เดินทางเข้ามาในไทยกว่า 20 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยที่ได้รับความนิยม จะเป็น 2 ลักษณะ คือ เดินทางมาท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ โดยไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ของเอเชีย ที่ชาวต่างชาติเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ รองจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินเดีย อยู่ในอันดับ 3
สำหรับสาเหตุที่ชาวต่างชาติมักเดินทางมาไทย เนื่องจากมองว่า คนไทยมีความสะอาด มีการให้บริการที่ดี และที่สำคัญคือ มีความคุ้มค่าในการรักษา และหลังจากรักษาแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่ เดินทางกันมาเป็นครอบครัว ทำให้สร้างรายได้ดีมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มตะวันออกกลาง โดยมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ แต่ละปีสูงมาก โดยทั่วโลกมีมูลค่าตลาดกลุ่มนี้สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และไทยมีมูลค่าตลาด 70,000 ล้านบาท และตอนนี้ประเทศมาเลเซีย กำลังสนใจเข้ามาส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มนี้เช่นกัน
ส่วนการท่องเที่ยวอีกประเภท คือ การท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรม จากจุดนี้เอง ในปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมมือกันคัดผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้ง 2 ลักษณะ ไปจับคู่ทางธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากมองว่า ไทยและเมียนมาร์ มีความใกล้ชิด และการทำธุรกิจไม่ควรเป็นคู่แข่งกัน ควรสร้างเครือข่ายร่วมกัน เช่น หากเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ก็จัดเป็นแพ็กเกจทัวร์ เดินทางไปถึงเมียนมาร์ด้วย เช่น กรุงเทพฯ– ย่างกุ้ง
ทั้งนี้จากการติดตามผลประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเราเน้นผู้ประกอบการตัวจริง โดยครั้งนั้นมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 70 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการ 25 ราย ที่เหลือเป็นผู้ติดตาม ไปร่วมกับผู้ประกอบการเมียนมาร์ ซึ่งขณะนี้ยังมีการติดต่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน
อย่างไรก็ตามจากผลความสำเร็จดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีเครือข่ายทั้งหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดต่าง ๆ หอการค้าในประเทศต่างๆ สมาคมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะร่วมกับ สสว. ดำเนินโครงการความร่วมมือเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (เวล เนสส์) ในกลุ่มสมาชิก เออีซี โดยจะเริ่มจากกลุ่มประเทศที่มีความใกล้ชิดกัน คือ ไทย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม เพื่อมาสร้างเครือข่ายร่วมกันในการทำธุรกิจร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำทัวร์ 3–4 ประเทศร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความคุ้มค่าในการซื้อจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยของไทยจะเน้นจุดศูนย์กลางในภาคต่าง ๆ ที่มีสนามบินบินไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และอุดรธานี รวมทั้งจัดงานจับคู่ทางธุรกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือกัน โดยหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้อบรมให้ความรู้ จัดกลุ่มธุรกิจที่จะไปจับคู่กับผู้ประกอบการประเทศอื่น  สำหรับกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมเวลเนสส์ จะเป็นอุตสาหกรรมในภาพรวมในเรื่องทั้งการท่องเที่ยวและสุขภาพ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง สถานพักฟื้น สถานฟื้นฟูสุขภาพ แพทย์แผนไทยแพทย์ทางเลือก ศูนย์สุขภาพ สปา ความงาม อาหารเสริม ธุรกิจไอที โรงแรม รวมถึงโฮมสเตย์ การท่องเที่ยว ล่าม บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าพื้นเมืองเชิงศิลปวัฒนธรรม ของที่ระลึก หัตถกรรม และโอทอป สถานที่ท่องเที่ยว การขนส่งโดยสารและโลจิสติกส์ สายการบิน รถทัวร์ รถเช่า ธนาคาร การประกันเดินทาง
ดร.สุทธาวรรณ ยังได้บอกถึงจุดแข็งของไทยที่ได้เปรียบประเทศอื่น คือ ไทยมีทำเลที่ตั้งที่ดี เป็นจุดศูนย์กลาง มีการให้บริการที่ต่างชาติชื่นชอบ ทั้งสปา โรงแรม มีอาหารหลากหลาย มีสมุนไพรต่าง ๆ มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบธนาคาร ที่อำนวยความสะดวก มีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีที่มีชื่อเสียง ส่วนสิ่งที่ไทย ต้องเร่งปรับตัว คือ ภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องสำคัญมาก การศึกษาความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศในอาเซียน การทำสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นมาตรฐาน เช่น อาหารฮาลาล ทุกธุรกิจควรมีเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ ช่องทางการติดต่อการซื้อขาย และข้อมูลข่าวสาร และตอนนี้ไทยเริ่มขาดแคลนนางพยาบาล "เราไม่ควรมองประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นคู่แข่ง ถ้าหากเราเปลี่ยนมุมมองจากคู่แข่ง มาให้ความร่วมมือสร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อผลักดันธุรกิจไปร่วมกัน เชื่อว่า ต่อไปประเทศไทยจะไม่ใช่มีนักท่องเที่ยวแค่ 20 ล้านคนแล้ว จะขยายตัวได้อีกหลายเท่าตัว” ดร.สุทธาวรรณ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้. 
ที่มา : จิตวดี เพ็งมาก www.dailynews.co.th 


"ความพร้อมด้านการแพทย์ไทย เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน - AC”

ประเทศไทยได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการแพทย์ทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อแพทย์ไทยเผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ว่ามีโอกาสหายขาดได้เมื่อกินยาติดต่อกันไม่เกิน 5 ปี ข่าวนี้ยังคงกรุ่นอยู่ในกระแส เพราะเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่เกิดขึ้นยังไม่พ้นเดือนในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยได้จัดเวิร์กชอป "Masterclass Project : Rhinoplasty” ขึ้นครั้งแรกในเอเชีย เพื่อสาธิตวิธีผ่าตัดเสริมจมูกด้วยการปลูกถ่ายไขมันแทนการใช้แท่งซิลิโคน ให้กับแพทย์ศัลยกรรมกว่า 200 คนจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง แคนนาดาและอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประกาศฝีมือหมอไทย ว่าเหนือชั้นกว่าเกาหลี หลังพบว่าชาวต่างชาติมาใช้บริการศัลยกรรมความงามมากกว่า 1.4 ล้านคน/ปี ขณะที่ศัลยกรรมการแปลงเพศ ไทยก็เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ทั้งจากชายเป็นหญิงและหญิงเป็นชาย มีชื่อเสียงถึงขนาดต่างชาติเหมาทัวร์กันมาเสริมสวย..ทำหล่อ ประเทศไทยจึงเป็นศูนย์รวมการผ่าตัดแปลงเพศที่ใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน
ก่อนหน้าเพียงปีเดียว โรงพยาบาลศิริราชก็ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดข้อเข่าได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์ดาวินชี่ ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคในช่องท้อง และการผ่าตัดทางนรีเวชมาแล้วมากมายสำหรับชื่อเสียงและจุดแข็งทางการแพทย์ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและความพร้อมที่จะเป็นผู้นำทางการแพทย์ในลำดับต้นๆของโลก และเป็นศูนย์กลางสุขภาพ หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ของภูมิภาค เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งนอกจากแพทย์ไทยจะได้รับการยอมรับด้านความสามารถ ในระดับสากลแล้ว จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซ์ซิม แบงค์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International: JCI Accreditation ของสหรัฐอเมริกา จำนวน 24 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในอาเซียน และผ่านมาตรฐานการดูแลสุขภาพในระดับโปรแกรมเฉพาะทางอีก 11 แห่ง เช่น โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต สะท้อนว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านมาตรฐานของสถานพยาบาล



ขณะที่อัตราค่าบริการยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่เกื้อหนุนให้สามารถดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลได้มากที่สุดในเอเชีย นำรายได้เข้าประเทศกว่า 120,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเดินทางเข้ามาของชาวต่างประเทศ สูงถึงร้อยละ 60 เข้ามาเพื่อรักษาสุขภาพโดยตรง โดยญี่ปุ่นและตะวันออกกลางเป็นลูกค้าที่ใช้บริการสูงสุด และบริการทางแพทย์ที่เป็นที่นิยมเรียงตามลำดับ คือ ตรวจสุขภาพทั่วไป ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม ศัลยกรรมกระดูก และผ่าตัดหัวใจ มีโรงพยาบาลในระดับพรีเมียมที่เป็นหน้าตาของประเทศ คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ใครเส้นเอ็นฉีกขาด ก็ต้องบินมารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะมีชื่อเสียงดังไปไกลในเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ ประเทศที่ประกาศตัวท้าชิงจะเป็นเมดิคัล ฮับ ทางการแพทย์กับไทย ได้แก่ เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย แต่ขณะนี้ล้มเลิกหมด เช่นกรณีมาเลเซีย ที่เคยดึงดูดชาวยุโรปให้ใช้บริการศัลยกรรมเสริมเต้านม ด้วยโปรโมชั่นแถมที่พักในบรรยากาศหุบเขา แต่การให้บริการเรียกว่าทำได้ไม่ถึง โครงการจึงต้องพับไป จะดังก็คือเกาหลีที่สร้างกระแสการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าได้แรง แต่หากวัดกันที่จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษา ขณะนี้ยอดชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยสูงกว่า 1.4 ล้านคน เรียกว่ามากที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับยอดคนไข้ต่างชาติในประเทศอื่นๆปัจจุบันผู้ชายเองก็นิยมทำศัลยกรรมเช่นกัน อย่างเช่น การปลูกผม ซึ่งไทยก็มีความเชี่ยวชาญและทำได้รวดเร็วไม่แพ้สหรัฐอเมริกา โดยการนำเซลล์ที่อยู่บริเวณท้ายทอยมาปลูกแทนผมส่วนที่หายไป และนอกจากความเชี่ยวชาญและการประหยัดเวลาที่เป็นจุดแข็งด้านการศัลยกรรมของไทยแล้ว ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในไทยก็ยังถูกกว่าประเทศอื่น ๆส่วนเรื่องทันตกรรม ก็เป็นบริการทางแพทย์ของไทยที่กำลังเป็นที่นิยมของต่างชาติ เนื่องจาก ทันตแพทย์ไทยสามารถจัดฟัน ถอนฟัน แล้วทำรากเทียมได้เสร็จภายในวันเดียว โดยคนไข้มีอาการบอบช้ำภายหลังการรักษาน้อย เราจึงถือว่าเป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเชี่ยวชาญงานฝีมือที่ทำได้สวยงามและรวดเร็ว รวมถึงการคำนึงถึงเรื่องการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ของฟัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาติดตามมาอีกด้วยจากความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในตลาดการแพทย์ของเอเชียอย่างชัดเจน หรือมองอีกนัยหนึ่ง เป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub of Asia) ได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว การันดีได้จาก ..ใครที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย สามารถทำฟัน ปลูกผม และแปลงเพศได้ในคราวเดียวกัน.

เรียบเรียง : ปัณญานัตย์ วิเศษสมวงศ์
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

ตอน “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ใช่ ประชาคมอาเซียน”

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ใช่ ประชาคมอาเซียน แต่เป็น 1ใน 3เสาความร่วมมือภายใต้ ประชาคมอาเซียน อีก 2 เสาหลัก ได้แก่
- ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security: APSC)
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม(ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มีเป้าหมายในการสร้างให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดี่ยว โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือ (วิชาชีพ) และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้ง การส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญของประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ซึ่งช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของอาเซียน และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจ โดยประสานท่าทีของประเทศสมาชิกในการเจรจาต่อรองกับประเทศนอกกลุ่ม
ความร่วมมือทั้ง 3 เสา คือ APSC,AECและ ASCC มีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันเพื่อที่จะเป็นประชาคมอาเซียน (AC) ที่สมบูรณ์

ที่มา : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ

ASEAN Economics Community ( AEC ) คืออะไรและคนไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

AEC หรือ Asean Economics Community คือ การรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า (เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว) ซึ่ง Asean จะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีผลในปี 2558 ณ วันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
AEC Blueprint (แบบพิมพ์เขียว) หรือแนวทางที่จะให้ AEC เป็นไปคือ
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
2. การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

โดยให้แต่ละประเทศใน AEC มีจุดเด่นต่างๆดังนี้
พม่า : สาขาเกษตรและประมง
มาเลเซีย : สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
อินโดนีเซีย : สาขาภาพยนต์และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
ฟิลิปปินส์ : สาขาอิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์ : สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
ไทย : สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบิน (ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ASEAN)
การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดๆใน AEC เช่น
- การลงทุนจะเสรีมากๆ คือ ใครจะลงทุนที่ไหนก็ได้ ประเทศที่การศึกษาระบบดีๆ ก็จะมาเปิดโรงเรียนในบ้านเรา อาจทำให้โรงเรียนแพงๆแต่คุณภาพไม่ดีลำบาก
- ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการบินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่าอยู่กลาง Asean และไทยอาจจะเด่นในเรื่อง การจัดการประชุมต่างๆ, การแสดงนิทรรศการ, ศูนย์กระจายสินค้า และยังเด่นเรื่องการคมนาคมอีกด้วยเนื่องจากอยู่ตรงกลางอาเซียน และการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพจะเติบโตอย่างมากเช่นกันเพราะ จะผสมผสานส่งเสริมกันกับอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยว (ค่าบริการทางการแพทย์ต่างชาติจะมีราคาสูงมาก)
- การค้าขายจะขยายตัวอย่างน้อย 25% ในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น รถยนต์, การท่องเที่ยว, การคมนาคม, แต่อุตสาหกรรมที่น่าห่วงของไทยคือ ที่ใช้แรงงานเป็นหลักเช่น ภาคการเกษตร, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรรมสิ่งทอจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากฐานการผลิตอาจย้ายไปประเทศที่ผลิตสินค้าทดแทนได้เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เนื่องด้วยบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนัก ค่าแรงจึงถูก

- เรื่องภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะมีคนอาเซียน เข้ามาอยู่ในไทยมากมายไปหมด และมักจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่จะใช้ภาษาอังกฤษ (AEC มีมาตรฐานแจ้งว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางใน AEC) ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้น ป้ายต่างๆ หนังสือพิมพ์, สื่อต่างๆ จะมีภาษาอังกฤษมากขึ้น (ให้ดูป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง) และจะมีโรงเรียนสอนภาษามากมาย หลากหลายหลักสูตร
- การค้าขายบริเวณชายแดนจะคึกคักอย่างมากมาย เนื่องจาก ด่านศุลกากรชายแดนอาจมีบทบาทน้อยลงมาก แต่จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาสังคมตามมาด้วย
- เมืองไทยจะไม่ขาดแรงงานที่ไร้ฝีมืออีกต่อไปเพราะแรงงานจะเคลื่อย้ายเสรี จะมี ชาวพม่า, ลาว, กัมพูชา เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แต่คนเหล่านี้ก็จะมาแย่งงานคนไทยบางส่วนด้วยเช่นกัน และยังมีปัญหาสังคม, อาชญากรรม จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- คนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ บางส่วนจะสมองไหลไปทำงานเมืองนอก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์ (ที่จะให้สิงคโปร์เป็นหัวหอกหลัก) เพราะชาวไทยเก่ง แต่ปัจจุบันได้ค่าแรงถูกมาก อันนี้สมองจะไหลไปสิงคโปร์เยอะมาก แต่พวกชาวต่างชาติก็จะมาทำงานในไทยมากขึ้นเช่นกัน อาจมีชาว พม่า, กัมพูชา โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง บริษัท software ในไทยอาจต้องปรับค่าจ้างให้สู้กับ บริษัทต่างชาติให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะสมองไหล
- อุตสาหกรรมโรงแรม, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, รถเช่า บริเวณชายแดนจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสัญจรมากขึ้น และเมืองตามชายแดนจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นจุดขนส่ง
- สาธารณูปโภคในประเทศไทย หากเตรียมพร้อมไม่ดีอาจขาดแคลนได้เช่น ชาวพม่า มาคลอดลูกในไทย ก็ต้องใช้โรงพยาบาลในไทย เป็นต้น
- กรุงเทพฯ จะแออัดอย่างหนัก เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นตรงกลางของอาเซียนและเป็นเมืองหลวงของไทย โดยเมืองหลวงอาจมีสำนักงานของต่างชาติมาตั้งมากขึ้น รถจะติดอย่างมาก สนามบินสุวรรณภูมิจะแออัดมากขึ้น
- ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกในการผลิตอาหาร เพราะ knowhow ในไทยมีเยอะประสบการณ์สูง และบริษัทอาหารในไทยก็แข็งแกร่ง ประกอบทำเลที่ตั้งเหมาะสมอย่างมาก แม้จะให้พม่าเน้นการเกษตร แต่ทางประเทศไทยเองคงไปลงทุนในพม่าเรื่องการเกษตรแล้วส่งออก ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจของคนไทยที่ชำนาญ อยู่แล้ว
- ปัญหาสังคมจะรุนแรงถ้าไม่ได้รับการวางแผนที่ดี เนื่องจาก จะมีขยะจำนวนมากมากขึ้น, ปัญหาการแบ่งชนชั้น ถ้าคนไทยทำงานกับคนต่างชาติที่ด้อยกว่า อาจมีการแบ่งชนชั้นกันได้, จะมีชุมชนสลัมเกิดขึ้น และอาจมี พม่าทาวน์, ลาวทาวน์, กัมพูชาทาวน์, ปัญหาอาจญากรรมจะรุนแรง สถิติการก่ออาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากชนนั้นที่มีปัญหา, คนจะทำผิดกฎหมายมากขึ้นเนื่องจากไม่รู้กฎหมาย

การขนส่งที่เปลี่ยนแปลง East-West Economic Corridor (EWEC)

จะมีการขนส่งจากท่าเทียบเรือทางทะเลฝั่งขวาไปยังฝั่งซ้าย เวียดนาม-ไทย-พม่า มีระยะทางติดต่อกันโดยประมาณ 1,300 กม.อยู่ในเขตประเทศไทยถึง 950 กม. ลาว 250 กม. เวียดนาม 84 กม. เส้นทางเริ่มที่ เมืองท่าดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว ผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขต ในประเทศลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่ จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัด กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเข้าไปยังประเทศพม่าไปเรื่อยๆ ถึงอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่อินเดียมันจะมีผลที่ดีคือ การขนส่ง logistic ใน AEC จะพัฒนาอีกมาก และจากการที่ไทยอยู่ตรงกลางทำให้เราขายของได้มากขึ้นเพราะเราจะส่งของไปท่าเรือทางฝั่งซ้ายก็ได้ ทางฝั่งขวาก็ได้ ที่ดินในไทยบริเวณดังกล่าวก็น่าจะมีราคาสูงขึ้น และที่พม่ายังมี โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือโครงการ "ทวาย” (ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่,ท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบัน Italian-Thai Development PLC ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างแล้ว) ที่เส้นทางสอดคล้องกับ East West Economic Corridor โดยทวายจะกลายเป็นทางออกสู่ทะเลจุดใหม่ที่สำคัญมากต่ออาเซียน เพราะในอดีตทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียจำเป็นต้องใช้ท่าเรือของสิงคโปร์เท่านั้น
ขณะเดียวกันโปรเจกต์ทวายนี้ยังเป็นต้นทางรับสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรปและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ซึ่งจะถูกนำเข้าและแปรรูปในโรงงานปิโตรเคมีภายในพื้นที่โปรเจกต์ทวาย เพื่อส่งผ่านไทยเข้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีนเช่น ลาว กัมพูชา และไปสิ้นสุดปลายทางยังท่าเรือดานังประเทศเวียดนาม และจะถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีน
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราควรจะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญตอนนี้คือ ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยๆเราก็จะได้สื่อสารทางธุรกิจได้ และถ้าจะหาลูกค้าแค่ในไทยก็อาจไม่เพียงพอแล้วเพราะ ธุรกิจต่างชาติก็จะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของเราแน่นอน เรื่อง AEC จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ธุรกิจและคนไทยต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมให้ดี
ที่มา : ASEAN Economic Community (AEC)

AEC คืออะไร... เป้าหมายคืออะไร ?


AEC คืออะไร... เป้าหมายคืออะไร ? 
AEC ย่อมาจาก ASEAN Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน เป็นเป้าหมายสำหรับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาคมประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ อาเซียน มีเป้าหมายที่จะให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจบรรลุผลภายในปี 2558
AEC เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักอีก 2 เสา คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) และ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)

เป้าหมายของ AEC คือ
(1) ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น
(2) ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน
(3) ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก
(4) ส่งเสริมการรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกของอาเซียน


ที่มา :กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์