วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สธ. จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน เตือน ประชาชนให้ป้องกันตนเอง

           สธ. จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน เตือน ประชาชนให้ป้องกันตนเอง หลังพบโรคไข้เลือดออกคร่าชีวิตคนไทยแล้วกว่า 50 ราย
           สธ.จัดงาน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" หวังกระตุ้นเตือนประชาคมอาเซียน และตอกย้ำให้คนไทยตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเอง หลังพบไข้เลือดออกคร่าชีวิตคนไทยแล้วกว่า 50 ราย ย้ำ!!ไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยยึดหัวใจสำคัญ 2 ข้อ ข้อ 1 กำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคด้วยการปฏิบัติตามยุทธการ 5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย และข้อ 2 หากพบอาการที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกต้องพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที
          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการจัดงาน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" : "ASEAN Dengue Day" ว่างานวันไข้เลือดออกอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนประชาคมอาเซียนและตอกย้ำคนไทยให้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก เพราะถือว่าปัญหาของโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาในระดับภูมิภาค ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น บางประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีปัญหาโรคไข้เลือดออกเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่ร้อนชื้นเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก และขณะนี้ก็เข้าสู่ฤดูกาลแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกแล้ว ประกอบกับมีการพยากรณ์เอาไว้ว่า ปี 2556 นี้จะมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัว หากประชาชนไม่ตระหนักในการป้องกันตนเองและร่วมมือกันป้องกันควบคุมโรคกันอย่างจริงจัง คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 – 150,000 ราย และอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงถึง 140 ราย
         "วันไข้เลือดออกอาเซียน" (ASEAN Dengue Day) ได้เริ่มดำเนินการนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หรือ ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ และบรูไน ที่ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันไข้เลือดออกอาเซียน" (ASEAN Dengue Day) โดยแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ สำหรับประเทศไทยปีนี้ได้จัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียนภายใต้คำขวัญ "อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก" (ASEAN Unity for Dengue-Free Community)
         ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ปีนี้จากการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในต่างประเทศเฉพาะในฝั่ง สำนักงานในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกขององค์การอนามัยโลก (WPRO) ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 พบว่าประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยมากที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ 35,234 ราย ตาย 157 ราย รองลงมา คือ เวียดนาม 13,903 ราย ตาย 10 ราย มาเลเซีย 9,329 ราย ตาย 17 ราย ลาว 3,638 ราย ตาย 15 ราย และ กัมพูชา 2,538 ราย ตาย 15 ราย
         สำหรับประเทศไทยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสถานการณ์โรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2556 โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงพบผู้ป่วยจำนวน 43,609 ราย ตาย 50 ราย เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่สถานการณ์ไข้เลือดออกที่ตอนนี้กำลังแพร่ระบาดหนัก เห็นได้จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (NEA) ระบุในถ้อยแถลงในวันที่ 11 มิ.ย. ว่าปีนี้มีชาวสิงคโปร์เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 2 รายและพบผู้ป่วยกว่า 9,300 ราย เมื่อเปรียบเทียบอัตราตายจากโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย พบว่าถึงแม้สิงคโปร์จะมีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่อัตราตายพบเพียงร้อยละ 2 คน ต่อ 10,000 คนเท่านั้น ส่วนประเทศไทยอัตราตายพบสูงถึงร้อยละ11 คน ต่อ 10,000 คน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ พบว่า ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออก มาพบแพทย์เมื่อมีอาการหนักมากแล้ว ทำให้การรักษาล่าช้าและไม่ทันเวลา
        จึงขอเน้นย้ำว่าไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ ขอแค่ประชาชนตระหนักในการป้องกันตนเอง โดยยึดหัวใจสำคัญ 2 ข้อ หัวใจข้อที่ 1 คือการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกด้วยการปฏิบัติตามยุทธการ "5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย" ได้แก่ 1. ป. ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ 2. ป.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3. ป.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่ 4. ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5. ป.ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1ข. คือ ขัดล้างไข่ยุงลาย
        "ส่วนหัวใจข้อที่ 2 คือ หากมีอาการต้องสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอยร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินดื่มไม่ได้ ให้รีบกลับมาหาแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที อย่านิ่งนอนใจจนไปพบแพทย์ช้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ และหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3333" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย

                                                      -------------------------------------------

ฤดีภรณ์ ศรีใส สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง – รายงาน

26 ส.ค.56

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนปี 57 เน้นกิจกรรมการตลาด

       ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ ดันให้หลักทรัพย์อาเซียนเป็นที่ยอมรับในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เตรียมจัดกิจกรรมผ่านกิจกรรมการตลาดต่างๆ ในปี 2557 ให้กับผู้ลงทุนทั้งใน และนอกภูมิภาค      
       ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน เปิดเผยหลังผลการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงครั้งที่ 19 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ว่า ได้กำหนดความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้หลักทรัพย์อาเซียนเป็นที่ยอมรับในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างโอกาสการลงทุนในอาเซียนผ่านกิจกรรมการตลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งใน และนอกภูมิภาค      
       นายฮานส์ บี ซีแคท กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ กล่าวว่าความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนยังคงเดินหน้าไปอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์อาเซียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และการส่งเสริมหลักทรัพย์ ASEAN Stars เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดงานโรดโชว์ Invest ASEAN ที่ผ่านมายังได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ลงทุน ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ของภูมิภาคนี้”      
       “การโปรโมต ASEAN Stars จะต้องดำเนินไปอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้การเชื่อมโยงที่ไร้พรมแดนของตลาดทุนอาเซียนเติบโตขึ้น ผู้ลงทุนจะต้องรอบรู้ในข้อมูลบริษัทจดทะเบียน และคุ้นเคยกับการซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียนเหมือนดังเช่นการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นประเทศของตัวเอง ดังนั้น ในปี 2557 ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน จะเน้นการจัดกิจกรรมการตลาดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ลงทุนเห็นถึงความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่งนายซีแคท กล่าว      
       สำหรับการติดตามข้อมูลการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน สามารถดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์ www.aseanexchanges.org โดยภายในเว็บไซต์ยังได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ASEAN Stars ประกอบด้วย หุ้นขนาดใหญ่ 180 ตัว ที่คัดเลือกจากหุ้นขนาดใหญ่ 30 หุ้นของประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนโดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และสภาพคล่อง นอกจากนี้ ภายในเว็บไซต์ยังได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสถิติ และผลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 7 แห่ง และภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์ยังได้รวบรวมบทวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนของบริษัทหลักทรัพย์ และรายงานข้อมูลเชิงลึกของดัชนี FTSE/ASEAN อีกด้วย     
        ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีพลวัตสูง ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การเงินและการธนาคาร พลังงาน โทรคมนาคม สินค้าโภคภัณฑ์ ยานยนต์ ภาคการผลิตและอื่นๆ
      
       อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์ 7 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ฮานอย และโฮจิมินห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของตลาดทุนอาเซียน ด้วยการส่งเสริมธุรกรรมข้ามตลาด พัฒนาช่องทางการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์อาเซียนให้สะดวก และง่ายขึ้น ออกผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์อาเซียน และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะส่งเสริมการเพิ่มสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์สมาชิก
                                                     --------------------------
ข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์  16 ส.ค.56

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เสนอ รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ รัฐ-เอกชน พัฒนาเมล็ดพันธุ์

         นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ พืชสวน และอุตสาหกรรมในอาเซียนอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งการวิจัย การปรับปรุงพื้นที่ปลูก เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเพื่อลดต้นทุน เพราะหากอนาคตประเทศไทยไม่พัฒนา อาจสูญเสียความเป็นผู้นำเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีด้านชีวภาพมากกว่า
           พร้อมเสนอมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำภายใน 1 ปีคือ การตั้งคณะกรรมการจากภาครัฐ และเอกชนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีห้องปฏิบัติการทดสอบเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปรับปรุงขั้นตอนการส่งออก และส่งเสริมการลงทุนเมล็ดพันธุ์ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมในไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 38,100 ล้านบาท มีเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 30,000 ราย ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 120,000-140,000 บาทต่อครอบครัวและต่อปี

                                                          -----------------------------------------

ข้อมูล จาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 9 สิงหาคม 2556
ฤดีภรณ์ ศรีใส สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง – รายงาน