วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไทยกับการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน

          ภายใต้เสาหลัก 3 เสา แห่งประชาคมอาเซียน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community– AEC) มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและโดดเด่นกว่าการดำเนินงานอีกสองเสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community– ASC) และประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน(ASEAN Socio-Cultural Community- ASCC) สาเหตุสำคัญนั่นคือ ประการแรก AEC ทำให้เศรษฐกิจอาเซียน มีมูลค่ารวมกัน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคนที่จะได้ยืนอย่างสง่างาม ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องตัวและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบจะหมดไป เนื่องจาก 10 ตลาดรวมเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ราคาสินค้าจะถูกลง ประการที่สาม ตลาดอาเซียนจะกลายเป็นตลาดของคน 590 ล้านคน ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปใน 9 ประเทศได้ราวกับส่งไปขายยังภูมิภาคภายในประเทศ ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในแง่ของการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ประการที่สี่ ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน และยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งจะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกัน และสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน ประการที่ห้า ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน ประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน
          สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่กระชับมากขึ้นเพื่อการเป็น AEC (ASEAN Economic Community ) ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในด้านหนึ่งคือการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนก็จะต้องแข่งขันกันเองเพื่อดึงดูดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้น การบรรเทาความขัดแย้งใน 2 ส่วนนี้จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย ต้องแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจของ International Management Development (IMD) ในปี 2547 พบว่าอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 29 จากทั้งหมด 60 ประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยยังอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า สิงคโปร์และมาเลเซีย โดย IMD เห็นว่าไทยควรพัฒนาด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขัน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และอัตราส่วนครูต่อนักเรียน นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การที่ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในหลายๆ ด้าน เช่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย (Tourism Capital of Asia) และศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งมีแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกันเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น ภายใต้กระแสการเปิดเสรีของโลกที่เข้มข้นและสภาพทางธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงในปัจจุบันนี้ ไทยควรพัฒนาขีดความสามารถทั้งด้านการค้า บริการและการลงทุน โดยส่งเสริมการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาทักษะและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม สำหรับด้านการตลาด ควรพัฒนาให้แบรนด์ของไทยเป็นแบรนด์ของภูมิภาคและของโลก (Regional and Global Brands) ส่วนภาคเกษตรกรรมควรพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มสมัยใหม่ พัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และจะต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรี FTA ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการจัดทำ FTA สองฝ่ายกับประเทศต่างๆ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย บาร์เรน เปรู และกลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC (บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฎาน และเนปาล)

เรียบเรียง ประวีณา ธาดาพรหมแหล่งข้อมูล :องค์ความรู้ ประชาคมอาเซียน http://www.thai-aec.com/227#ixzz1wNF7IYe3ศูนย์วิจัยกสิกรไทย http://www.kasikornresearch.com/TH/K-EconAnalysis/Pages/Search.aspxposition Magazine http://www.positioningmag.com/prnews/prnews.aspx?id=23505สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/small_head/ASEAN2011/asean_news.php

9 สถานที่สำคัญไทยติด 25 อันดับสุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวในเอเซีย

           ทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซต์ท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศรายชื่อสถานที่น่าสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล Travellers’ Choice Attractions โดยได้รับการให้คะแนนสูงสุดจากนักเดินทางที่เข้ามาเขียนบทวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นกว่าล้านรายการ โดยในปีนี้ มีสถานที่ๆ โดดเด่นมีเอกลักษณ์ สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ และสวนสนุก-สวนน้ำ จำนวน 1,263 แห่งทั่วโลก ได้รับรางวัลนี้
สถานที่ๆ ได้รับรางวัลอยู่ใน 39 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งในแอฟริกา เอเซีย ออสเตรเลีย แคริบเบียน อเมริกากลาง จีน ยุโรป อินเดีย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ แปซิฟิคใต้ และสหรัฐอเมริกา รางวัล Travellers’ Choice Attractions นี้มีเกณฑ์มาจากคุณภาพและจำนวนบทวิจารณ์ตลอดจนความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อสถานที่ต่างๆ ของแต่ละประเภท บนเว็บไซต์ทริป แอดไวเซอร์
สำหรับในกรุงเทพฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร (วัดอรุณ) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับ 8 10 11 12 และ 21 ตามลำดับ ในประเภทของสถานที่ๆ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับอันดับ 10 ของประเภทสุดยอดพิพิธภัณฑ์ในเอเซีย ในขณะที่ สวนลุมพินี ติดอันดับที่ 20 ในประเภทสุดยอดสวนสาธารณะในเอเชีย นอกจากนี้ ซาฟารีเวิลด์ ในกรุงเทพฯ และสวนน้ำแบล็ค เมาเท่น ที่หัวหิน ติดอันดับ 17 และ 20 ตามลำดับ ในประเภทของสุดยอดสวนสนุกและสวนน้ำในเอเซีย
มิสบาบารา เมสซิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ทริปแอดไวเซอร์ กล่าวว่า “การกระตุ้นให้นักเดินทางออกมาท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ทริปแอดไวเซอร์ ได้ประกาศรายชื่อสุดยอดสถานที่น่าสนใจทั่วโลก ที่ได้รับการโหวตมาจากผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์กว่าล้านความคิดเห็นทั่วโลก สถานที่ๆ ได้รับรางวัลมากกว่า 1,200 แห่งนี้เป็นสถานที่ๆ น่าทึ่ง ที่มอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความบันเทิงให้แก่นักเดินทางทุกวัย”

10 สุดยอดสถานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในประเทศไทย

1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)2. พระบรมมหาราชวัง
3. วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร (วัดอรุณ)
4. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
5. วัดพระธาตุดอยสุเทพ
6. พิพิทธภัณฑ์บ้านไทยจิมทอมป์สัน
7. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร(วัดพระทองคำ)
8. พระใหญ่ภูเก็ต
9. วัดร่องขุน
10. (วัดสระเกศ)ภูเขาทอง

10 สุดยอดสวนสาธารณะในเอเชีย

1. สวนพฤกษชาติสิงคโปร์ สิงคโปร์
2. สวนหนานเหลียน ฮ่องกง
3. สวนที่ระลึกแห่งฮิโรชิมา ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
4. ฮ่องกงปาร์ค ฮ่องกง
5. สวนนาระ เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น
6. สวนเป่ยไห่ (เป่ยไห่กงหยวน) ปักกิ่ง จีน
7. ถนนเลียบแม่น้ำ (Bingjiang Da Dao) เซี่ยงไฮ้ จีน
8. สวนหินจันดิการ์ จันดิการ์ อินเดีย
9. สวนจิงซาน (จิงซาน กุ้ยหยวน) ปักกิ่ง จีน
10. เปอร์โซฮาวา, อิสลามาบัด ปากีสถาน

10 สุดยอดพิพิธภัณฑ์ในเอเชีย

1. พิพิธภัณฑ์สุสานจิ๋นซี เมืองซีอาน จีน
2. พระราชวังต้องห้าม ปักกิ่ง จีน
3. พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, กรุงพนมเปญ กัมพูชา
4. พิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิมา ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
5. พิพิธภัณฑ์สงคราม เมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม
6. พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนาม ฮานอยเวียดนาม
7. พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง ฮ่องกง
8. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงไทเป ไต้หวัน
9. พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ เซี่ยงไฮ้ จีน
10. พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด, จังหวัดกาญจบุรี ประเทศไทย

10 สุดยอดสถานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเอเชีย

1. นครวัด เสียมเรียบ กัมพูชา
2. ทัชมาฮาล อัครา อินเดีย
3. ปราสาทบายน เสียมเรียบ กัมพูชา
4. กำแพงเมืองจีน ที่มูเทียนยู ปักกิ่ง จีน
5. เจดีย์ชเวดากอง ย่างกุ้ง พม่า
6. วิหารทองคำ-ฮิรมันดิรซาฮิบ อัมริตซาร์ อินเดีย
7. พระราชวังแอมเบอร์ ชัยปุระ อินเดีย
8. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ ประเทศไทย
9. ป้อมเมห์รานการห์ โชธปุระ อินเดีย
10. พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ประเทศไทย


10 สุดยอดสวนสนุกและสวนน้ำในเอเชีย

1. สวนน้ำวอเตอร์บอม บาหลี เมืองคูตา อินโดนีเซีย
2. ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ, เกาะเซนโตซ่า สิงคโปร์
3. โอเชี่ยนปาร์ค ฮ่องกง
4. โตเกียว ดิสนีย์ซี อุระยะซึ ญี่ปุ่น
5. โตเกียว ดิสนีย์แลนด์ อุระยะซึ ญี่ปุ่น
6. ฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกง
7. สกายไลน์ ลู๊จช์ เซนโตซ่า, เกาะเซนโตซ่า สิงคโปร์
8. สวนสนุกวอนเดอร์ล่า, บังกาลอร์ อินเดีย
9. ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เจแปน โอซาก้า ญี่ปุ่น
10. เซี่ยงไฮ้ เซอร์คัส เวิลด์ เซี่ยงไฮ้ จีน

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวไทยพำนักในญี่ปุ่น 15 วัน เริ่ม 1 ก.ค.56

          สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ผ่านเว็บไซต์ http://www.th.emb-japan.go.jp/th/jis/2013/1321.htm เรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทย เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.2556 ระบุว่า ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพำนักระยะสั้นในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.2556 และสามารถพำนักในประเทศญี่ปุ่นได้ 15 วัน แต่หากผู้ยื่นประสงค์จะพำนักในประเทศญี่ปุ่นเกิน 15 วัน หรือไปทำงาน หรือมีวัตถุประสงค์อื่นๆ จะต้องยื่นขอวีซ่าตามปกติ  โดยการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทยนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย
          สำหรับผู้ที่จะเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก่อนจึงจะสามารถเข้าประเทศได้เช่นเดียวกับผู้ที่ยื่นขอวีซ่ากับทางสถานเอกอัครราชทูต โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าประเทศ หรือขอตรวจเอกสารที่จำเป็น เช่น ตั๋วเครื่องบินขากลับ หรืออื่นๆ ทั้งนี้ ถ้ามีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวีซ่า แผนกกงสุล สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ 02-207-8503 หรือ 02-696-3003
          สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ แจ้งด้วยว่า ผู้ที่ประสงค์จะพำนักระยะสั้นในญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ หรือธุรกิจ จะต้องยื่นเอกสารจำเป็นในขั้นตอนการตรวจเข้าเมือง เพื่อยืนยันการมีคุณสมบัติการเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้น ดังนี้
          1. ตั๋วเครื่องบินขาออกจากประเทศญี่ปุ่น                                                            
          2. สิ่งที่ยืนยันว่าท่านสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่นได้ เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น                                                                        
          3. ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขติดต่อในระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น เช่น คนรู้จัก โรงแรม ฯลฯ 4.กำหนดการเดินทางระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น
          สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่เข้าประเทศญี่ปุ่นด้วยมาตรการยกเว้นวีซ่า คือ
1.        หนังสือเดินทางต้องมีอายุการใช้งานเหลืออยู่                                                       
2.       กิจกรรมใดๆที่จะกระทำในญี่ปุ่น จะต้องไม่เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย และเข้าข่ายคุณสมบัติการพำนักระยะสั้น                                                                                               
3.       ในขั้นตอนการขอเข้าประเทศ จะต้องระบุระยะเวลาการพำนักไม่เกิน 15 วัน  และ
4.       เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติการถูกส่งตัวกลับจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ในระยะเวลาของการถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ และไม่เข้าข่ายคุณสมบัติที่จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ


ที่มา : เดลินิวส์